แผงโซลาร์เซลล์เป็นอันตรายจริงหรือไม่?

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ความสนใจในแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งระบบพลังงานแสงอาทิตย์มีอำนาจเหนือกว่าอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของระบบสุริยะในบ้าน ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ระบบโซล่าร์ปลอดภัยจริงหรือไม่?
 “พลังงานแสงอาทิตย์” คือพลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ในประเทศไทยเอง นับตั้งแต่ปี 2013 โซลาร์เซลล์ก็กลายเป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้มากขึ้นในฐานะพลังงานทดแทน เพื่อลดการสร้างมลภาวะจากพลังงานเชื้อเพลิงที่ต้องผ่านการเผาไหม้และทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ มีการตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2036 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยจะมีมากถึง 6,000 MW โดยคาดการณ์จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2013 ถึงปี 2015 เป็นต้นมา ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 หรือภายในระยะเวลาหนึ่งปี มีการเปิดเผยว่า สถิติผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทยที่ค้นหาคำว่า ‘Solar Cell’ ในกูเกิ้ลนั้นมีมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีนที่เป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด
ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องของขยะและการกำจัดขยะจากโซลาร์เซลล์ เราจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าวัฎจักรชีวิตของแผงโซลาร์เซลล์นั้นเป็นอย่างไร จากการศึกษา    พบว่า อายุขัยของแผงโซลาร์เซลล์ (Life Expactancy of Solar Panels) จะมีอยู่ราว 20–30 ปีก่อนปลดระวาง แต่จากประสบการณ์จริงของผู้ใช้โซลาร์เซลล์หลายคนพบว่า ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์จะลดลงเพียงร้อยละ 6–8 เมื่อใช้งานไป 25 ปี จึงอาจสรุปได้ว่า ช่วงชีวิตการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์นั้นอาจนานกว่าที่มีการประมาณอย่างเป็นทางการ ราว 40 ปีขึ้นไปและยังคงทำงานได้หลังจากประสิทธิภาพลดลง
ในเชิงกฏหมาย แผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานจะถูกจำแนกให้เป็น “กากของเสีย” เช่นเดียวกับในกรณีของสหภาพยุโรป แผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ  การใช้งานจะถูกจัดเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) โดยอยู่ภายใต้ “กฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Waste Electrical and Electronic Equipment Directive หรือ WEEE) ที่กำหนดว่า ผู้ผลิตโซลาร์เซลล์จะต้องทำตามข้อกำหนดเฉพาะในกฎหมายและมาตรฐานการรีไซเคิลเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าแผงโซลาร์เซลล์จะไม่กลายเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อหมดอายุการใช้งาน    

สิ่งที่อยู่ในแผงโซล่าเซลล์

โมโนคริสตัลไลน์ และ โพลีคริสตัลไลน์ คือแผงโซลาร์เซลล์สองแบบที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกระบวนการผลิตโซลาร์เซลล์นั้น จะผลิตแผ่นกระจกจากซิลิคอน ผลิตกรอบจากอะลูมิเนียมและผลิตสายจากทองแดง โดยมีขั้นตอนการใช้สารเคมีอันตรายโดยมีการใช้สารเคมีหรือโลหะที่เป็นพิษเพียงแค่บางชนิด อันได้แก่ กรดไฮโดรคลอริก กรดไนตริก และไฮโดรเจนฟลูออกไรด์ เพื่อทำความสะอาดผิวหน้าแผงโซลาร์ แม้ว่าแผ่นฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์บางแบบอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักผสมอยู่บ้าง เช่น แคดเมียมและเทลโลไรด์ แต่งานวิจัยจำนวนมากกล่าวว่าไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่า   มีสารพิษรั่วไหลจากแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้
ถึงอย่างนั้นสิ่งนี้ก็เน้นย้ำว่าเราจำเป็นต้องมีการจัดการขั้นตอนการผลิตแผงโซลาร์อย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการรีไซเคิลแผงโซลาร์เมื่อเป็นไปได้และการกำจัดขยะโซลาร์ที่หมดอายุแล้วอย่างปลอดภัยและมีระบบ เพื่อให้วัตถุดิบอันตรายต่าง ๆ ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สารเคมีที่เป็นพิษอาจรั่วไหลไปในอากาศได้ผ่านการเผาไหม้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่หายใจเข้าไป อย่างไรก็ดี ถ้าหากมีการติดตั้งแผงโซลาร์อย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะไม่เกิดการเผาไหม้ขึ้น และระดับความเสี่ยงของการรั่วไหลของสารเคมีก็จะไม่ต่างกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ใช้กันทั่วไป
อีกสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์คือปัญหาการสร้างขยะแผงโซลาร์ เช่นในบทวิเคราะห์หนึ่งที่กล่าวอ้างว่าแผงโซลาร์นั้น สร้างขยะมากกว่านิวเคลียร์ถึง 300 เท่า ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ตระหนักถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 40 ปี และเรื่องที่ส่วนประกอบ     เกือบทุกอย่างของแผงโซลาร์นั้นสามารถนำมารีไซเคิลและกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจำนวนมากกำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งยังมีผลการวิจัยเพิ่มเติมที่ชี้ว่ามลพิษที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำนั้นน้อยว่ามลพิษที่เกิดที่เกิดจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่น้อยมาก แม้ว่าจะต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมากก็ตาม นอกจากนั้น กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและคนงานมากกว่าพลังงานจากถ่ายหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์อีกด้วย
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์จากการได้รับสารพิษในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแผงโซลาร์นั้นน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังจะเห็นได้จากการกำจัดและรีไซเคิลที่ต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ ประเทศไทยจึงต้องการการร่วมมือจากทุกภาคส่วน    ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การกำจัดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิล และโรงกำจัดซากโซลาร์เซลล์ให้สมดุลกับปริมาณฟาร์มโซลาร์     ที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้พลังงานจากแสงอาทิตย์นี้สามารถใช้เป็นทางเลือกในการลดมลภาวะจากกระบวนการผลิตพลังงานอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต