Rapid Shutdown คืออะไร ทำไมต้องมีในโซล่าเซลล์

หลังจากที่ทาง พ.พ. ได้ประกาศบังคับใช้ “ระบบ Rapid Shutdown” ตามมาตรฐาน วสท. 022013-22 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา “ทำให้ตอนนี้หากใครจะติดตั้งโซล่ารูฟท็อปขนาดมากกว่า 200 kwp. (ขนาดอินเวอร์เตอร์มากกว่า 200 kwp.) ต้องติดตั้งระบบ Rapid Shutdown ด้วย” ทั้งนี้เพื่อให้โครงการโซล่ารูฟท็อปขนาดใหญ่ในไทย มีมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จริงๆ แล้ว ระบบ Rapid Shutdown คือ เป็นระบบมาตรฐานที่ใช้กันเป็นสากล โดยมีที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชื่อว่า มาตรฐาน National Electrical Code (NEC) 2017 โดยมาตรฐาน NEC นี้ จะออกกฏใหม่ทุกๆ 3 ปี

ทำไมต้องติดตั้ง Rapid Shutdown

1. สร้างความปลอดภัยให้แก่นักผจญเพลิง เมื่อเกิดเพลิงไหม้

“การเกิดเพลิงไหม้แผงโซล่าเซลล์” อันตรายมาก เพราะแม้ว่าเราจะทำการตัดวงจรไฟฟ้าทั้งหมด แต่แรงดันไฟฟ้ากระแสตรง DC (ไฟฟ้าแรงสูง) ของแผงโซล่าเซลล์จะยังคงทำงานอยู่ ซึ่งในกรณีที่เป็นระบบโซล่าเซลล์แบบสตริงอินเวอร์เตอร์ที่ต่ออนุกรมเดียวกันแรงดันไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากความร้อนของเพลิงไหม้ที่มีมากกว่า 600 โวลต์ ก็จะลามไปสู่แผงโซล่าเซลล์ทุกแผงในอนุกรมเดียวกันทั้งหมด ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ขึ้นๆได้

2. สร้างความปลอดภัยให้แก่ทีมซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ในกรณีที่มีช่างเข้าไปทำความสะอาด หรือตรวจสอบแผงโซล่าเซลล์แม้จะปิดระบบกระแสไฟฟ้าแล้วก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าช็อตซึ่งเป็นอันตรายต่อช่างเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ “ระบบ Rapid Shutdown” เป็นระบบที่สร้างความปลอดภัยให้แก่เราได้ โดยเป็นระบบหยุดการทำงานฉุกเฉิน ด้วยการลดแรงดันไฟฟ้าได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

คุณลักษณะ Rapid Shutdown

1. วงจรโซลาร์เซลล์ที่อยู่นอกขอบเขต เมื่อมีการเปิดการทำงาน rapid shutdown จะต้องสามารถลดแรงดันไฟฟ้า DC ลงเหลือไม่เกิน 30 โวลต์ภายใน 30 วินาที

2. สำหรับวงจรโซลาร์เซลล์ที่อยู่ภายในขอบเขต จะต้องสามารถลดแรงดันไฟฟ้า DC ลงเหลือไม่เกิน 80 โวลต์ภายใน 30 วินาที

มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย สภาวิศวกรได้ออกมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย: ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2559 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้กำหนดเกี่ยวกับระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน เอาไว้ในหัวข้อ 4.3.13 ดังนี้
ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ควรพิจารณาอุปกร์ที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน ซึ่งมีคุณลักษณะ ดังนี้
– ใช้สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่มีเคเบิลภายในอาคารยาวมากกว่า 1.5 เมตร หรือ เคเบิลของโซล่าเซลล์ ยาวมากกว่า       3 เมตร
– เมื่ออุปกรณ์หยุดทำงานฉุกเฉินเริ่มทำงาน สายเคเบิลจะต้องมีแรงดันไม่เกิน 30 โวลต์ และ 240 โวลต์-แอมแปร์ ภายในเวลา 10 วินาที โดยแรงดันไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าต้องวัดระหว่างเคเบิลสองเส้นและระหว่างเคเบิลเส้นใดเส้นหนึ่งกับดิน
– ควรมีการระบุอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน โดยติดตั้งสวิตช์เริ่มการทำงานระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน (rapid shutdown) ในตำแหน่งที่นักดับเพลิงสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น ผนังใกล้ทางเข้าอาคาร เป็นต้น